ไขข้อสงสัย ! ขยะอิเล็กทรอนิกส์คืออะไร ทำไมต้องแยกกำจัด ?
ในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีพัฒนาอย่างก้าวกระโดด อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวัน แต่เมื่ออุปกรณ์เหล่านี้หมดอายุการใช้งานไป จะกลับกลายเป็นขยะที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเรียกว่า “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” บทความนี้จะพาไปรู้จักขยะอิเล็กทรอนิกส์กันให้มากขึ้นว่าคืออะไรและมีอะไรบ้าง รวมถึงพาไปศึกษาความสำคัญของการแยกขยะประเภทนี้กัน
ขยะอิเล็กทรอนิกส์ คืออะไร ?
ขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Waste คือ ซากของอุปกรณ์ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เสื่อมสภาพ ใช้งานไม่ได้ หรือไม่ต้องการแล้ว ซึ่งขยะเหล่านี้ล้วนเต็มไปด้วยสารพิษอันตราย เช่น สารตะกั่ว สารปรอท โครเมียม สารหน่วงไฟ ที่ไม่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ และหากกำจัดไม่ถูกวิธี สารพิษจะปนเปื้อนลงในดิน น้ำ อากาศ ส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีการแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ออกเป็น 10 ประเภท ตามระเบียบว่าด้วยการจัดการเศษซากเหลือทิ้งจากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หรือ WEEE (Waste from Electrical and Electronic Equipment) ดังนี้
- เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ภายในครัวเรือน เช่น ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เครื่องอบผ้า
- เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กภายในครัวเรือน เช่น เตารีด เครื่องดูดฝุ่น หม้อหุงข้าว เครื่องปิ้งขนมปัง เครื่องเป่าผม
- อุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก โทรศัพท์มือถือ เครื่องถ่ายเอกสาร ฯลฯ
- เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคภายในบ้าน เช่น วิทยุ โทรทัศน์ กล้องถ่ายรูป เครื่องดนตรีไฟฟ้า
- อุปกรณ์ให้แสงสว่าง เช่น หลอดไฟประเภทต่างๆ
- เครื่องมือไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เช่น สว่านไฟฟ้า เลื่อยไฟฟ้า
- ของเล่นหรืออุปกรณ์กีฬาที่ใช้ไฟฟ้า
- อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์
- เครื่องมือตรวจวัดและควบคุมสภาพแวดล้อมต่าง ๆ เช่น เครื่องตรวจจับควัน เครื่องควบคุมอุณหภูมิ
- เครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ และตู้ ATM
แหล่งกำเนิดขยะอิเล็กทรอนิกส์ มีอะไรบ้าง ?
ขยะอิเล็กทรอนิกส์จากโรงงานอุตสาหกรรม (Industrial Waste)
เป็นเศษซากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต ประกอบด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ชำรุดเสียหายจนใช้ไม่ได้ หรือล้าสมัยจากโรงงาน ชิ้นส่วนที่เหลือจากการประกอบสินค้า รวมถึงบรรจุภัณฑ์จากวัสดุที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ โดยมีตัวอย่างของ E-Waste จากโรงงาน ได้แก่
- แผงวงจรพิมพ์
- หน้าจอคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ
- แบตเตอรี่
- สายไฟ
- เคสพลาสติก
ขยะอิเล็กทรอนิกส์จากครัวเรือน (Household Waste)
เกิดขึ้นเมื่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้งานในบ้านทั่วไป มีความชำรุด เสียหาย หรือเป็นอุปกรณ์ตัวเก่าที่ไม่สามารถใช้งานได้ตามต้องการ เช่น
- โทรศัพท์มือถือ
- คอมพิวเตอร์
- โทรทัศน์
- ตู้เย็น
- เครื่องปรับอากาศ
- หลอดไฟ
การนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ
ในสภาวะที่ทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างมหาศาล ประเทศไทยเองก็กำลังประสบปัญหานี้เช่นกัน โดยเฉพาะ E-Waste จากต่างประเทศ เนื่องจากประเทศพัฒนาแล้วมักส่งออกขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปยังประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีอนุสัญญาบาเชล (Basel Convention) ว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายและการกำจัดของเสียอันตรายข้ามแดน รวมถึงการกำหนดให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้า ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2563 แต่ก็ยังคงมีขยะอิเล็กทรอนิกส์ปะปนเล็ดลอดเข้ามา ด้วยอาจเพราะยังไม่มีระบบตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ ซึ่ง E-Waste ที่นำเข้ามาเหล่านี้มักถูกนำไปแยกชิ้นส่วน หรือรีไซเคิล โดยใช้กรรมวิธีที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ความสำคัญของการแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์
ลดมลพิษ
ดังที่กล่าวไปในข้างต้นว่า E-Waste เป็นขยะที่เต็มไปด้วยสารพิษอันตรายที่ไม่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ซึ่งหากกำจัดไม่ถูกวิธี ก็มักถูกฝังกลบ ทิ้งลงแม่น้ำ ซึ่งจะส่งผลให้สารอันตรายซึมลงสู่ดินและน้ำ จนเกิดการปนเปื้อนและส่งผลต่อระบบนิเวศ รวมถึงการนำไปเผา ซึ่งจะทำให้เกิดก๊าซพิษและฝุ่นละอองขนาดเล็ก ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจและก่อให้เกิดโรคเรื้อรัง การแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์จึงช่วยในการนำไปรีไซเคิล หรือกำจัดอย่างถูกวิธี ลดการเผาไหม้และการปนเปื้อนของสารอันตราย
รักษาสิ่งแวดล้อม
ยังมี E-Waste จำนวนมากประกอบด้วยวัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ หรือรีไซเคิลได้ เช่น โลหะ พลาสติก แก้ว การแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์จึงจะช่วยให้สามารถนำวัสดุเหล่านี้กลับมาใช้ใหม่ ซึ่งจะช่วยลดมลพิษจากกระบวนการผลิต เป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ
ประหยัดทรัพยากรธรรมชาติ
การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใหม่ ต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก เช่น แร่ธาตุ น้ำมัน ป่าไม้ การรีไซเคิลจะช่วยลดความต้องการทรัพยากรธรรมชาติใหม่ จึงช่วยประหยัดพลังงาน ลดต้นทุนการผลิต อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) หนึ่งในกุญแจสำคัญเพื่อการบรรลุสู่เป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน
อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนคงได้รู้จักขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Waste กันมากขึ้นแล้วว่าคืออะไร มีอะไรบ้าง ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร หากใครเริ่มสนใจและต้องการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการปกป้องสิ่งแวดล้อมจากมลพิษและอนุรักษ์ทรัพยากรที่มีค่า สามารถมาเปลี่ยนการรีไซเคิลให้เป็นกำไรได้กับ HRT Recycling บริษัทที่พร้อมดูแลการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ โลหะที่ไม่ใช่เหล็ก และซื้อขายแร่ เพื่ออนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก้าวเข้าสู่เส้นทางการเงินที่ยั่งยืน
แหล่งอ้างอิง
- ขยะอิเล็กทรอนิกส์. สืบค้นเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 จาก https://library.parliament.go.th/sites/default/files/assets/files/works/academic%20office/books/pdf/NALT-work-academic-2559-nicha.pdf
- ปัญหาการนำเข้าขยะจากต่างประเทศ. สืบค้นเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 จาก https://library.parliament.go.th/th/radioscript/payhakarnaekhakhyacaktangpraeths
- แสดงรายละเอียด สินค้าที่มีมาตรการ นำเข้า-ส่งออก-นำผ่าน ขยะอิเล็กทรอนิกส์. สืบค้นเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 จาก https://www.dft.go.th/th-th/DFT-Service/Data-Service-Information/ProductMeasure-Import-Export/Detail-ProductMeasure-Import-Export/ArticleId/16128/16128